วันพฤหัสบดีที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2561

       อาหารไทย
             อาหารไทยมีชื่อเสียงขจรขจายไกลไปทั่วโลก  ด้วยสีสันสวยงามตามธรรมชาติ  รสชาติที่กลมกล่อมมีความหวาน เปรี้ยว  เค็มได้ที่  และเผ็ด พอประมาณ อาหารไทยมากมายหลายชนิด มีการผสมผสานเครื่องปรุง และเครื่องเทศต่างๆ ของเอเชียเข้าไว้ด้วยกัน  ส่วนในการเพิ่มรสชาติของอาหาร  มีการใช้น้ำผลไม้ เช่น น้ำมะขาม  น้ามะนาว  ส่วนน้ำปลา   น้ำตาลปีบ  กะปิ  น้ำมันหอยช่วยทำให้อาหารมีความกลมกล่อมมากยิ่งขึ้นส่วนผสมของกะทิที่ปรุงร่วมกับเครื่องแกงต่างๆ ทำให้อาหารไทยมีความโดดเด่นในรสชาติ  แตกต่างจากอาหารชาติอื่นๆ และนอกจากนั้น วัฒนธรรมการตกแต่งอาหาร  ให้วิจิตรสวยงาม    ด้วยศิลปะการแกะสลักผักและผลไม้แสดงออกถึงความประณีตในการรับประทานอาหารของชนชาติไทย                                                                                                                    เครื่องเทศ ที่ใช้ในการประกอบอาหารไทยเป็นสมุนไพรล้วนๆ ได้แก่   ขิงข่า ตะไคร้  มะกรูด  กระชาย หอม    กระเทียม ฯ อาหารไทยจึงเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นอาหาร   “เพื่อสุขภาพ”  อย่างแท้จริง


อาหารภาคเหนือ
                     ในอดีตบริเวณภาคเหนือของไทยเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนามาก่อน ช่วงที่อาณาจักร   แห่งนี้เรืองอำนาจ ได้แผ่ขยายอาณาเขตเข้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ลาว และมีผู้คนจากดินแดนต่าง ๆ อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนแห่งนี้ จึงได้รับวัฒนธรรมหลากหลายจากชนชาติต่าง ๆ เข้ามาในชีวิตประจำวันรวมทั้งอาหารการกินด้วย   อาหารของภาคเหนือ ประกอบด้วยข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก มีน้ำพริกชนิดต่าง ๆ เช่น น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกอ่อง มีแกงหลายชนิด เช่น แกงโฮะ แกงแค นอกจากนั้นยังมีแหนม ไส้อั่ว แคบหมู  และผักต่าง ๆ สภาพอากาศก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้อาหารพื้นบ้านภาคเหนือแตกต่างจากภาคอื่น ๆ   นั่นคือ การที่อากาศหนาวเย็นเป็นเหตุผลให้อาหารส่วนใหญ่มีไขมันมาก เช่น น้ำพริกอ่อง แกงฮังเล  ไส้อั่ว เพื่อช่วยให้ร่างกายอบอุ่น อีกทั้งการที่อาศัยอยู่ในหุบเขาและบนที่สูงอยู่ใกล้กับป่า จึงนิยมนำ  พืชพันธุ์ในป่ามาปรุงเป็นอาหาร เช่น ผักแค บอน หยวกกล้วย ผักหวาน ทำให้เกิดอาหารพื้นบ้าน ชื่อต่าง ๆ เช่น แกงแค แกงหยวกกล้วย แกงบอน





อาหารภาคกลาง
      เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ของภาคกลางเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำลำคลอง หนองบึงมากมาย     จึงเป็นแหล่งอาหารทั้งพืชผักและสัตว์น้ำนานาชนิด พื้นที่บางส่วนติดชายฝั่งทะเลทำให้วัตถุดิบ    ในการประกอบอาหารหลากหลายอุดมสมบูรณ์     

           อาหารภาคกลางมีความหลากหลายทั้งในการปรุง รสชาติ และการตกแต่งให้น่ารับประทาน  สืบเนื่องจากการรับและปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมจากภายนอก เช่น จีน อินเดีย ชาวตะวันตก อีกทั้งอาหารภาคกลาง   บางส่วนได้รับอิทธิพลมาจากอาหารของราชสำนักอีกด้วย  สำรับอาหารภาคกลางมักมีน้ำพริกและผักจิ้ม   โดยรับประทานข้าวสวยเป็นหลัก ลักษณะอาหาร  ที่รับประทานมักผสมผสานระหว่างภาคต่าง ๆ เช่น แกงไตปลา ปลาร้า    น้ำพริกอ่อง
       กับข้าวพื้นบ้านของคนภาคกลางซึ่งเป็นแหล่งรวมสำรับอาหารอันหลากหลายประกอบขึ้น ด้วยวิธีการปรุงหลายแบบ เช่น แกง ต้ม ผัด ทอด และมักใช้กะทิใส่อาหารประเภทแกงเผ็ดทุกชนิด เช่น แกงเขียวหวาน นอกจากนี้มีแกงส้ม แกงเลียง แกงป่า แกงจืด
         อาหารพื้นบ้านภาคกลางที่มีชื่อเสียงได้รับความนิยมไปทั่วโลกคือ ผัดไทย ต้มยำกุ้ง   ที่ประกอบไปด้วยพืชสมุนไพรหลายชนิด และประกอบขึ้นจากพืชผักที่หาได้ในท้องถิ่นทั่วไป   ล้วนแต่มีสรรพคุณเป็นยา มีประโยชน์ต่อร่างกายทั้งสิ้น
                                                                  อาหารภาคอีสาน
         สภาพภูมิศาสตร์ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานมีผลต่ออาหารการกินของคนท้องถิ่น อย่างมาก เนื่องจากพื้นที่บางแห่งแห้งแล้ง วัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหารซึ่งหาได้ตามธรรมชาติ   ส่วนใหญ่ ได้แก่ ปลา แมลงบางชนิด พืชผักต่าง ๆ การนำวิธีการถนอมอาหารมาใช้เพื่อรักษาอาหารไว้กินนาน   จึงเป็นส่วนสำคัญในการดำรงชีพของคนอีสาน 

ชาวอีสานจะมีข้าวเหนียวนึ่งเป็นอาหารหลักเช่นเดียวกับภาคเหนือ เนื้อสัตว์ที่นำมาปรุงอาหาร  ได้แก่   สัตว์ที่หามาได้ เช่น กบ เขียด แย้ แมลงต่าง ๆ ที่มาของรสชาติอาหารอีสาน เช่น รสเค็มได้จากปลาร้า รสเผ็ด  ได้จากพริกสดและพริกแห้ง รสเปรี้ยวได้จากมะกอก ส้มมะขาม และมดแดง   ในอดีตคนอีสานนิยมหมัก  ปลาร้าไว้กินเองเพราะมีปลาอุดมสมบูรณ์ ประกอบกับเป็นแหล่ง  เกลือสินเธาว์ ทำให้การทำปลาร้าเป็นที่แพร่หลายมาก จากปลาร้าพื้นบ้านอีสานได้มีการพัฒนาทั้งวิธีการทำและรสชาติ จนกลายเป็นตำรับปลาร้าที่ส่งขายต่างประเทศในปัจจุบัน
อาหารพื้นบ้านอีสานที่มีชื่อเสียง ได้แก่  ตำมะละกอ ตำแตงร้าน ตำถั่วฝักยาว ใส่มะกอกเพิ่มรสเปรี้ยว  ใส่ปลาร้าเพิ่มรสเค็ม เพิ่มรสเผ็ดด้วยพริก


                                                            อาหารภาคใต้
     อาหารพื้นบ้านภาคใต้มีรสชาติโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ สืบเนื่องจากดินแดนภาคใต้  เคยเป็นศูนย์กลางการเดินเรือค้าขายของพ่อค้าจากอินเดีย จีนและชวาในอดีต ทำให้วัฒนธรรม   ของชาวต่างชาติโดยเฉพาะอินเดียใต้ ซึ่งเป็นต้นตำรับในการใช้เครื่องเทศปรุงอาหารได้เข้ามามีอิทธิพลอย่างมาก


อาหารพื้นบ้านภาคใต้ทั่วไป มีลักษณะผสมผสานระหว่างอาหารไทยพื้นบ้านกับอาหารอินเดียใต้  เช่น น้ำบูดู   ซึ่งได้มาจากการหมักปลาทะเลสดผสมกับเม็ดเกลือ และมีความคล้ายคลึงกับอาหารมาเลเซีย  อาหารของภาคใต้จึงมีรสเผ็ดมากกว่าภาคอื่น ๆ และด้วยสภาพภูมิศาสตร์อยู่ติดทะเลทั้งสองด้าน   มีอาหารทะเลอุดมสมบูรณ์ แต่สภาพอากาศร้อนชื้น ฝนตกตลอดปี อาหารประเภทแกงและเครื่องจิ้ม  จึงมีรสจัด ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น ป้องกันการเจ็บป่วยได้อีกด้วย   ความหลากหลายในสำรับอาหารปักษ์ใต้ได้รับอิทธิพลจากอินเดียใต้ ทำให้เกิดตำรับอาหารใหม่มากมาย ล้วนผ่านวิธีการดัดแปลง ปรับปรุงเป็นวัฒนธรรมอาหารการกินที่ถ่ายทอดมาสู่รุ่นลูกหลาน  ในปัจจุบัน ทำให้มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากภาคอื่นอย่างชัดเจนคือ รสชาติจัดและเน้นเครื่องเทศ และมีผักสารพัดชนิดที่เรียกว่า “ผักเหนาะ” ซึ่งเป็นพืชพื้นบ้านหาได้ในท้องถิ่น เช่น สะตอ ลูกเหนียง  ยอดกระถิน มากินร่วมด้วย เพื่อบรรเทารส  เผ็ดของอาหาร ทั้งมีสรรพคุณเป็นยาอีกด้วย
เนื้อสัตว์ที่นำมาปรุงเป็นอาหารส่วนมากนิยมสัตว์ทะเล เช่น ปลากระบอก ปลาทู ปูทะเล กุ้ง  หอย ซึ่งหาได้ในท้องถิ่น    อาหารพื้นบ้านของภาคใต้ เช่น แกงเหลือง แกงไตปลา นิยมใส่ขมิ้นปรุงอาหารเพื่อแก้รสคาว เครื่องจิ้มคือ  น้ำบูดู
อาหารพื้นบ้านภาคใต้ที่มีชื่อเสียง เช่น  ข้าวยำ  ปลาเค็ม กุ้งแห้ง บูดู เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น